วิสัยทัศน์
พันธกิจ/พันธสัญญา
ภารกิจ/หน้าที่
โครงสร้างหน่วยงาน
ติดต่อหน่วยงาน
ข้อมูลบริการ
คลังความรู้
เอกสารเผยแพร่
ลักษณะทั่วไปของพื้นที่
จัดซื้อจัดจ้าง
- หญ้าแฝก
- มหัศจรรย์ พด.
- วิเคราะห์ดิน
- แผนที่ออร์โธสี
- ด้านการสำรวจดิน
- ด้านการวางแผนการใช้ที่ดิน
- ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน
- ด้านอนุรักษ์ดินและน้ำ
- ด้านงานวิจัย
- การรับรองมาตรฐาน (ตัว Q)
- ข้อมูล GIS
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

       

ประวัติความเป็นมาของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8
          สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2527 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2527 เป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่าระดับสำนักๆ หนึ่งในกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารและปฏิบัติงานพัฒนาที่ดินที่ได้รับมอบหมายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งก่อนที่จะมีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 ขึ้นมานั้น มีความเป็นมาดังนี้
          เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2506 ในช่วงสมัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะรัฐมนตรีคณะที่ 29 ของไทย ได้จัดตั้ง “กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ” ขึ้นมาใหม่ ตามพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ ที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านพลังงาน การพัฒนาที่ดิน การทางหลวง สหกรณ์ และทรัพยากรธรณี โดยการแยกงานและบุคลากรส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงสหกรณ์และกรมอื่นๆ ที่มีอยู่เดิมออกมารวมกันใหม่เป็น 13 กรม และให้มาอยู่ในสังกัดของกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ซึ่ง “กรมพัฒนาที่ดิน” เป็น 1 ใน 13 กรมที่เกิดขึ้นใหม่ในเวลานั้น มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานการพัฒนาที่ดินของประเทศ ดังนั้น จึงถือว่า วันที่ 23 พฤษภาคม 2506 เป็นวันกำเนิดของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินที่ก่อตั้งขึ้นมานั้น เป็นการแยกงานบางส่วนที่ทำอยู่เดิมในกรมกสิกรรม กระทรวงเกษตร มารวมกับงานใหม่ที่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินโดยเฉพาะ มีหน่วยงานในสังกัดจำนวน 5 กอง คือ สำนักงานเลขานุการกรม กองจำแนกดิน กองบริรักษ์ที่ดิน กองนโยบายที่ดิน และ กองปฏิบัติการสนามสำรวจดิน และในวันเดียวกันนั้น (23 พฤษภาคม 2506) สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศแต่งตั้งให้ นายบรรเจิด พลางกูร ผู้เชี่ยวชาญทางดินและปุ๋ย กรมกสิกรรม มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน หลังจากวันนั้นมากรมพัฒนาที่ดินได้มีการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในทางที่เจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
          ในช่วงปี 2509-2511 กองบริรักษ์ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีหน้าที่หลักในการอนุรักษ์และปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ ได้ขยายหน่วยงานจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความสะดวก ก่อให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำ” ขึ้นในบางจังหวัดกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั้วประเทศ พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานประจำที่ศูนย์ฯ เหล่านั้น ศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำที่จัดตั้งขึ้นในช่วงเวลานั้น ได้แก่ ศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำเพชรบูรณ์ ศูนย์(หน่วย)อนุรักษ์ดินและน้ำเลย ศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำน่าน ศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำเชียงราย เป็นต้น
          ตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมา กองบริรักษ์ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำในส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกต่อการปฏิบัติงานและครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางและทั่วถึงมากขึ้น และได้ยกระดับฐานะศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำให้มีขอบเขต ความรับผิดชอบ และความสามารถในการปฏิบัติงานได้มากขึ้น ได้ยกระดับฐานะของศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำให้สูงขึ้น และเปลี่ยนชื่อจาก “ศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำ” เป็น “ศูนย์พัฒนาที่ดิน” และได้จัดตั้งเพิ่มขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
          ในปี 2514 จอมพลถนอม กิตติขจรได้ทำการปฏิวัติและยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐใหม่
          วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 คณะปฏิวัติที่มีจอมพลถนอม กิตติขจรเป็นหัวหน้าคณะฯ ได้ประกาศยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติลง และได้จัดแบ่งส่วนราชการของประเทศไทยขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันในสมัยนั้น ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216, 217, 218 และ 276 และในพระราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่มที่ 89 ตอนที่ 145 กำหนดให้ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และกรมส่งเสริมสหกรณ์มาสังกัด “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 29 กันยายน 2515 ซึ่งเมื่อกรมพัฒนาที่ดินย้ายมาสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยังมีการขยายงานและจัดตั้งศูนย์พัฒนาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 2526
          วันที่ 6 ตุลาคม 2526 ได้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2526” ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 100 ตอนที่ 160 ขึ้น ซึ่งใน มาตรา 10 และ มาตรา 14 ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินไว้ ดังนี้
                    มาตรา 10 กำหนดให้กรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่สำรวจและวิเคราะห์ตรวจสอบดินหรือที่ดิน เพื่อให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และความเหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ที่ดิน จำแนกที่ดิน การพัฒนาที่ดิน ทำสำมะโนที่ดิน หรือภาวะเศรษฐกิจที่ดิน เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
                    ให้กรมพัฒนาที่ดินมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสถิติ ตามกฎหมายว่าด้วยสถิติในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำสำมะโนที่ดินเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                    มาตรา 14 กำหนดไว้ว่า เอกชนรายใดประสงค์จะให้กรมพัฒนาที่ดินวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน หรือปรับปรุงดินหรือที่ดิน หรือการอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นการเฉพาะราย ให้ยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ หากไม่มีหน่วยงานดังกล่าวให้ยื่นต่ออำเภอ
                    การวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน หรือการปรับปรุงดินหรือที่ดิน หรือการอนุรักษ์ดินและน้ำตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ขอเสียค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                    ในกรณีที่เกษตรกรประสงค์จะให้กรมพัฒนาที่ดินวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดินเพื่อปรับปรุงดินหรือที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมของตน หากได้นำตัวอย่างดินมอบให้กรมพัฒนาที่ดิน ก็ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามวรรคสอง และให้กรมพัฒนาที่ดินแจ้งผลการวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดินให้ผู้ขอทราบภายในเวลาอันสมควร พร้อมทั้งคำแนะนำในการปรับปรุงดินหรือที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
          วันที่ 5 เมษายน 2527 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาแบ่งท้องที่ของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกเป็นเขต โดยการรวมพื้นที่ 4-5 จังหวัดที่มีลักษณะสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน และสภาพแวดล้อมอื่นๆ คล้ายคลึงกันรวมเป็นเขตพัฒนาที่ดินเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา วิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริหารจัดการงานพัฒนาที่ดิน
          วันที่ 10 เมษายน 2527 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2527 ให้แบ่งหน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดินระดับกองที่มีอยู่ 9 กอง เป็น 22 กอง (9 กอง และ 13 สำนักงาน) โดยมีกอง/สำนักงานในส่วนกลาง 10 กอง/สำนักงาน และสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ที่มีฐานะเทียบเท่ากองอีก 12 กอง (สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต) ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ก็เพื่อให้การบริหาราชการแผ่นดินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการประกาศใช้พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2526 ซึ่ง สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 เป็นหนึ่งในหน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดินที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2527 นี้ด้วย โดยกำหนดให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก มีหน้าที่บริหารงานพัฒนาที่ดินในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดเลย และ จังหวัดพิจิตร มีเนื้อที่รับผิดชอบ 29.67 ล้าน ไร่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2526 ของกรมพัฒนาที่ดินในส่วนภูมิภาคเกิดความคล่องตัว สะดวก รวดเร็วในการให้บริการเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ เหมาะสมกับงานพัฒนาที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลงในการขยายงานและมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น โดยให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงานและปฏิบัติการในรูปของสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดในสังกัด เป็นระบบการบริหารราชการส่วนกลางที่มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ในส่วนภูมิภาค และให้เปลี่ยนชื่อจาก “ศูนย์พัฒนาที่ดิน” สังกัดกองบริรักษ์ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน เป็น “สถานีพัฒนาที่ดิน” สังกัดสำนักงานพัฒนาที่ดินเขตที่จัดตั้งขึ้นใหม่
          การก่อสร้างอาคารที่ทำการของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 นั้น เกิดขึ้นหลังจากพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2527 มีผลบังคับใช้ กรมพัฒนาที่ดินได้มอบหมายให้ นายเชาวลิต อ่อนพูล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 และ นายสามภพ จันทรมณี นักวิชาการเกษตร 7 กองบริรักษ์ที่ดิน ประสานงานกับราชพัสดุจังหวัดพิษณุโลก และผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยหาพื้นที่ราชพัสดุสำหรับใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8
          วันที่ 15 พฤษภาคม 2528 นายเชาวลิต อ่อนพูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 ในขณะนั้น ได้มีหนังสือแจ้งกรมพัฒนาที่ดินว่าได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ราชพัสดุของจังหวัดพิษณุโลกสำหรับเป็นสถานที่ที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 ได้แล้ว ณ ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา เป็นพื้นที่ราชพัสดุที่กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณะสุข ได้ขอใช้ไว้นานแล้วแต่ยังมิได้มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้กำหนดไว้แต่อย่างใด กรมธนารักษ์จึงได้ขอพื้นที่ดังกล่าวคืนจากกรมควบคุมโรคติดต่อและได้มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกจัดให้กับกรมพัฒนาที่ดิน ที่ประสงค์ขอใช้พื้นที่สำหรับสร้างอาคารสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 พร้อมบ้านพักข้าราชการ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินมีแบบแปลนและงบประมาณในการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2528 พร้อมอยู่แล้ว ซึ่งกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ยินดีคืนที่ราชพัสดุดังกล่าวให้กับกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ได้มอบให้ทางจังหวัดพิษณุโลกและส่งมอบต่อให้กรมพัฒนาที่ดินเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มก่อสร้างสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 ได้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2528 และได้เปิดใช้ทำการได้ตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา
          วันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงกองและเปลี่ยนชื่อกองใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แต่ยังคงมีหน่วยงาน 9 กอง 13 สำนักงาน เท่าเดิม
          วันที่ 9 ตุลาคม 2545 ได้มีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาที่ดินอีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงส่วนราชการภายในใหม่เป็น 5 กอง 1 ศูนย์ และ 16 สำนัก (4 สำนักในส่วนกลาง และ 12 สำนักในส่วนภูมิภาค) คือ สำนักงานเลขานุการกรม กองการเจ้าหน้าที่ กองคลัง กองช่าง กองแผนงาน กองแผนที่ ศูนย์สารสนเทศ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน
          วันที่ 6 มกราคม 2555 ได้มีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้ลงประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง โดยแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาที่ดินออกใหม่เป็น 3 กอง 1 ศูนย์ และ 18 สำนัก (6 สำนักในส่วนกลาง และ 12 สำนักในส่วนภูมิภาค) คือ สำนักงานเลขานุการกรม กองการเจ้าหน้าที่ กองคลัง กองแผนงาน ศูนย์สารสนเทศ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 สำนักเทคโนโลยีการสำรวจและทำแผนที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักวิศวกรรมเพื่อการพัฒนาที่ดิน สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน
          ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2557) กรมพัฒนาที่ดินมีการแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555 และได้ตั้งกองเป็นการภายในขึ้นอีก 2 กอง คือ กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน และ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ดังนั้น จึงมีหน่วยงานรวม 5 กอง 1 ศูนย์ และ 18 สำนัก (6 สำนักงานในส่วนกลาง และ 12 สำนักงานในส่วนภูมิภาค) และมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
          1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
          2. ศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ และจำแนกดิน เพื่อกำหนดนโยบาย และวางแผนการใช้ที่ดิน การกำหนดบริเวณการใช้ที่ดิน การควบคุมการใช้ที่ดินบริเวณที่มีการใช้ หรือทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมี หรือวัตถุอื่นใด การกำหนดเขตการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งติดตามสถานการณ์สภาพการใช้ที่ดิน
          3. ศึกษา วิจัย และพัฒนาการปรับปรุงบำรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเกษตรในไร่นา ตลอดจนการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร
          4. ให้บริการวิเคราะห์และตรวจสอบดิน น้ำ พืช ปุ๋ย พร้อมให้คำแนะนำ เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดิน
          5. ศึกษา วิเคราะห์ และผลิตแผนที่ภาพถ่าย จัดทำสำมะโนที่ดิน และพัฒนาระบบแผนที่ฐาน เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการใช้ การพัฒนา การผลิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร และอื่นๆ
          6. ถ่ายทอดผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และให้บริการด้านการพัฒนาที่ดิน รวมทั้งสร้างเครือข่ายหมอดินอาสาและกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ดิน และในด้านอื่นๆ
          7. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
          ตั้งแต่ก่อตั้งกรมพัฒนาที่ดินขึ้นในปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2557) มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี ดังนี้

ลำดับ
ที่

ชื่อ – นามสกุล
ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง

จาก

ถึง

1

นายบรรเจิด พลางกูร

23 พฤษภาคม 2506

30 กันยายน 2523

2

นายอนันต์ โกเมศ

1 ตุลาคม 2523

30 กันยายน 2528

3

นายสมาน ริมวานิช

1 ตุลาคม 2528

28 กุมภาพันธ์ 2532

4

นายสิทธิลาภ วสุวัติ

1 มีนาคม 2532

30 กันยายน 2535

5

นายณรงค์ มีนะนันท์

1 ตุลาคม 2535

18 กันยายน 2536

(4)

นายสิทธิลาภ วสุวัติ

1 ตุลาคม 2536

30 กันยายน 2537

6

นายบุณยรักษ์ สืบศิริ

1 ตุลาคม 2537

30 กันยายน 2538

7

นายสมพงษ์ ถีรวงศ์

1 ตุลาคม 2538

30 กันยายน 2539

8

นายสมพงษ์ ปองเกษม

1 ตุลาคม 2538

30 กันยายน 2540

(7)

นายสมพงษ์ ถีรวงศ์

1 ตุลาคม 2540

30 กันยายน 2541

9

นายสิมา โมรากุล

1 ตุลาคม 2540

27 ตุลาคม 2545

10

นายอรรถ สมร่าง

17 พฤศจิกายน 2545

30 กันยายน 2548

11

นายชัยวัฒน์ สิทธิบุศย์

27 ตุลาคม 2548

30 กันยายน 2550

12

นายบัณฑิต ตันศิริ

1 ตุลาคม 2550

30 กันยายน 2552

13

นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา

13 ตุลาคม 2552

30 กันยายน 2555

14

นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต

4 ตุลาคม 2555

30 กันยายน 2556

15

นายอภิชาต จงสกุล

1 ตุลาคม 2556

ปัจจุบัน

          สำหรับสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 ตั้งแต่ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2557) มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน ดังนี้

ลำดับ
ที่

ชื่อ – นามสกุล
ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน

ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง

จาก

ถึง

1

นายเชาวลิต อ่อนพูล

พ.ศ. 2527

พ.ศ. 2541

2

นายอุดม พูลสวัสดิ์

พ.ศ. 2541

พ.ศ. 2545

3

นายพิศิษฐ์ ชี้เชิญ

พ.ศ. 2546

พ.ศ. 2550

4

นายพิทักษ์ อินทะพันธ์

พ.ศ. 2550

พ.ศ. 2554

5

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์

ตุลาคม พ.ศ. 2554

ธันวาคม พ.ศ. 2554

6

นายอิสรา อนุรักษ์พงศธร

พ.ศ. 2555

พ.ศ. 2555

7 นายประศาสน์ สุทธารักษ์ พ.ศ. 2556 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

7

 

 

 

          ปัจจุบัน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 281/55 ถนนสายพิษณุโลก-วัดโบสถ์ ในเขตพื้นที่ของบ้านคลอง หมู่ที่ 5 ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก รหัสไปรษณีย์ 55000 ในพื้นที่ 3-2-50 ไร่ อยู่ห่างจากจังหวัดพิษณุโลกไปทางทิศเหนือประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีพื้นที่ติดต่อกับพื้นที่ข้างเคียง คือ ทิศเหนือติดกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก ทิศใต้ติดกับอาคารบ้านเรือนเอกชน ทิศตะวันออกติดกับถนนสายพิษณุโลก-วัดโบสถ์ ทิศตะวันตกติดกับอาคารบ้านเรือนเอกชน สำนักงานตั้งอยู่ที่พิกัดตำแหน่งระบบ UTM ที่ 634830 ตะวันออก และ 1863242 เหนือ ในแผนที่โซน 47Q พื้นที่อยู่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 50 เมตร

           มีสถานีพัฒนาที่ดินในสังกัด 5 สถานีฯ และแต่ละสถานีฯ มีที่มาดังนี้
สถานีพัฒนาที่ดินพิษณุโลก ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารที่ทำการและบ้านพักข้าราชการในปี 2527 บนพื้นที่สาธารณะประโยชน์ “ป่าแดงซำเตย” ในความดูแลรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลชัยนาม เนื้อที่ 430-0-03 ไร่ ปัจจุบันอยู่เลขที่ 156 บ้านวังบอน หมู่ที่ 2 ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ ได้พัฒนาปรับปรุงมาจาก “ศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำเพชรบูรณ์” ที่ก่อสร้างจากการบุกเบิกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ป่าเสื่อมโทรมในบริเวณบ้านโคกหนองหอย หมู่ที่ 11 ตำบลสะเดียง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี 2511 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์พัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ ในปี 2513 และเป็น สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ ในปี 2527 ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 45 บ้านโคกหนองหอย หมู่ที่ 11 ตำบลสะเดียง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ 576 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างหลัก กม.ที่ 4-5 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ช่วงเพชรบูรณ์-หล่มสัก

สถานีพัฒนาที่ดินอุตรดิตถ์
ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารที่ทำการและบ้านพักข้าราชการในปี 2529 ในพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ในท้องที่บ้านน้ำริด หมู่ที่ 9 ตำบลน้ำริด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เนื้อที่ประมาณ 138 ไร่ อยู่ติดถนนด้านตะวันออกของถนนสายอุตรดิตถ์-เด่นชัย อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปทางทิศเหนือประมาณ 9 กิโลเมตร

สถานีพัฒนาที่ดินเลย
ได้พัฒนาปรับปรุงมาจาก “หน่วยอนุรักษ์ดินและน้ำเลย” ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2511 สังกัดศูนย์พัฒนาที่ดินขอนแก่น กอบบริรักษ์ที่ดิน ในปี 2527 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีพัฒนาที่ดินเลย สังกัดสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8 ต่อมาได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารที่ทำการและบ้านพักในพื้นที่สาธารณะประโยชน์บริเวณ กม.18 ริมถนนสายเลย-เชียงคาน บ้านโคกสว่าง หมู่ที่ 10 ตำบลศรีสองรัก อำเภอเมือง จังหวัดเลย เนื้อที่ 319-0-74 ไร่ ห่างจากจังหวัดเลยไปทางทิศเหนือประมาณ 18 กิโลเมตร สร้างเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2532

สถานีพัฒนาที่ดินพิจิตร ได้รับงบประมาณและเริ่มก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานี บ้านพัก โรงเรือนต่างๆ ในปีงบประมาณ 2536 บนที่ดินสาธารณะประโยชน์ “บึงโจงโคลง” ในเนื้อที่ 73-0-50 ไร่ โดยขอใช้จากสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยความเห็นชอบจากสภาตำบลโรงช้าง ปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่เลขที่ 19 บ้านโรงช้าง หมู่ที่ 2 ตำบลโรงช้าง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร