กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8
สอบถามรายละเอียดโทร. 055-241008 ต่อ 18
(วันและเวลาราชการ)

ธาตุอาหารในดิน
ข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินระบุว่าประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ โดย 1 ใน 3 เป็นพื้นที่ที่ใช้เพื่อการเกษตรกรรม ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่าไม้ ที่อยู่อาศัย ที่รกร้างว่างเปล่า แต่ข้อมูลที่น่าสนใจกว่านั้นคือพื้นที่ทำการเกษตรกรรมถึง 2 ใน 3 เป็นพื้นที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไม่เหมาะต่อการปลูกพืช เมื่อพิจารณาดูอย่างละเอียดแล้วก็ไม่น่าแปลกใจมากนัก เพราะการทำการเกษตรหลังยุคปฏิวัติเขียวที่เกษตรกรเริ่มทำการเกษตรในปริมาณมากเพื่อการพาณิชย์ มีการใช้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี สารฆ่าวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า ไทยมีการนำเข้าสารเหล่านี้จากต่างประเทศมากขึ้นโดยต่อเนื่อง อย่างนี้จะไม่ให้ดินเสียได้อย่างไรกัน

ดินในอุดมคติควรมีสัดส่วนอินทรียวัตถุประมาณ 5% แต่ดินบ้านเราที่ทำการเกษตรมาระยะหนึ่งแล้วจะมีอินทรียวัตถุอยู่เพียงประมาณ 2% เท่านั้น ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ก็ข้าวนาปรังนั่นไง หลังจากรถเกี่ยวเก็บเกี่ยวเรียบร้อยหมดแล้ว ก่อนการทำนารอบใหม่เกษตรกรมักใช้วิธีเผากำจัดตอซังเพื่อให้ง่ายต่อการคราดปรับระดับ แบบนี้จะไปเหลืออะไรนอกจากขี้เถ้า จุลินทรีย์ดินก็ตาย กรณีคล้ายๆ กันนี้ก็พบในอ้อยโรงงานที่เกษตรกรหลายคนนิยมเผาใบเพื่อให้ตัดง่าย แต่ไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะติดตามมาในอนาคต

ค่าความเป็นกรดด่างของดินส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตของพืช ค่ามาตรฐานกลางๆ ที่พืชโดยทั่วไปชอบคือช่วง 6.0-6.5 แต่ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยนั้นต่ำกว่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือพื้นที่ดินในการทำการเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นมีปัญหาเป็นกรดเกินไป การเป็นกรดของดินมีหลายสาเหตุ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ เช่นดินปลูกพืชนาที่มีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดมีแนวโน้มเป็นกรดมาก การใช้ยาปราบวัชพืชติดต่อกันเป็นเวลานานก็ชักนำให้เกิดความเป็นกรดได้มากเช่นกัน หรือการใช้ปุ๋ยเคมีอย่าง 46-0-0 และ 21-0-0 ก็ทำให้ดินเป็นกรดได้ด้วย แต่หากใส่ในปริมาณเท่ากัน ดินที่ใส่ 21-0-0 จะเป็นกรดเร็วกว่า 46-0-0 (แต่ 21-0-0 (อัมโมเนียมซัลเฟต) มีการปลดปล่อยซัลเฟอร์ให้กับดินได้ด้วย 21-0-0 จึงเหมาะสำหรับดินเนื้อทราย)

ฟอสฟอรัสเป็นธาตุอาหารหลักที่พืชมีความต้องการในปริมาณมาก ดินที่ดีควรมีฟอสฟอรัส 35-60 ส่วนต่อล้าน ดินที่มีกำเนิดยู่ใกล้ภูเขาหินปูนมักไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีปริมาณฟอสฟอรัสมากอยู่แล้ว แต่กำเนิดของดินที่มาจากหินขาวเช่นเฟลสปา พวกนี้จะมีปัญหาดินกรด ในทางกลับกันดินที่มีกำเนิดจากหินดำจะมีฤทธิ์ค่อนไปทางด่าง

โปแทสเซียมนี่เป็นธาตุที่พืชต้องการมากเช่นกันโดยเฉพาะไม้ผล พืชหัว พืชที่ให้แป้งและน้ำตาล โปแทสเซียมนั้นดำเนินทางสายกลาง ไม่ค่อยเป็นพิษเป็นใครกับใคร แต่ปริมาณโปแทสเซียมมีผลต่อธาตุอีกหลายตัวโดยเฉพาะแมกเนเซียม คือเมื่อโปแทสเซียมในดินสูงมักไปข่มให้พืชแสดงอาการขาดแมกเนเซียม ดินที่เหมาะต่อการปลูกพืชควรมีปริมาณแมกเนเซียม 100-200 ส่วนต่อล้าน แคลเซียม 800-1,000 ส่วนต่อล้าน และแมกเนเซียม 250-450 ส่วนต่อล้าน สังเกตที่สัดส่วนแคลเซียมต่อแมกเนเซียม ค่าที่เหมาะสมคือดินควรมีแคลเซียมมากกว่าแมกเนเซียม 2 ถึง 4 เท่า มากหรือน้อยกว่านี้ก็มีปัญหา

 
หน้าแรก
กลุ่มวิเคราะห์ดิน
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 8
ถนนพิษณุโลก-วัดโบสถ์ ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000
โทรศัพท์ :055-241008 ต่อ 18 (วันและเวลาราชการ) โทรสาร: 055-245350
Email : r08_6@ldd.go.th