ปุ๋ยอินทรีย์ (ลักษณะเป็นก้อน, ชิ้น, ผง หรือเม็ด)
ลักษณะปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถเก็บมาวิเคราะห์ได้
ปุ๋ยอินทรีย์ที่เก็บจากกองปุ๋ย จะต้องผ่านกระบวนการหมักโดยสมบูรณ์ก่อน จึงจะเป็นตัวอย่าง ที่ดีสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ ปุ๋ยที่สามารถเก็บได้ควรมีลักษณะดังนี้
1. อุณหภูมิในกองปุ๋ยลดลงเท่ากับอุณหภูมิภายนอกรอบ ๆ กองปุ๋ย
2. สีของเศษวัสดุเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ และมีลักษณะอ่อนนุ่มและเปื่อยยุ่ย
3. ไม่มีกลิ่นเหม็นฉุนของก๊าซต่าง ๆ
4. อาจมีหญ้าหรือเห็ดขึ้นบนกองปุ๋ยหมักได้
การเก็บตัวอย่างปุ๋ยอินทรีย์
กำหนดจุดที่ต้องการเก็บตัวอย่างให้กระจายทั่วถึงโดยรอบกอง ไม่น้อยกว่า 10 จุด เก็บ ตัวอย่างแต่ละจุดในปริมาณที่เท่ากัน นำตัวอย่างมาเทกองและคลุกผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึงบน พื้นที่สะอาดรวมกันไม่น้อยกว่า 20 ก.ก. หรือร้อยละ 1 ของปริมาณปุ๋ย หรือประมาณ 100 ก.ก. ต่อกองปุ๋ยตั้งแต่ 1,000 ตันขึ้นไป พูนเป็นรูปกรวย ตบยอดให้ราบลงแล้วแบ่งกองปุ๋ยเป็นสี่ส่วน นำส่วนตรงข้ามสองส่วน มารวมกัน พูนเป็นรูปกรวยใหม่ แล้วแบ่งเป็นสี่ส่วนอีก ทำดังนี้จนได้ น้ำหนักตัวอย่างประมาณ 3 ก.ก. ใส่ในถุงพลาสติก เพื่อนำส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการต่อไป
ปุ๋ยอินทรีย์ (ลักษณะเป็นของเหลว)
ลักษณะปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่สามารถเก็บมาวิเคราะห์ได้
ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่จะนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ จะต้องผ่านกระบวนการหมักโดยสมบูรณ์ จึงจะเป็นตัวอย่างที่ดีสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่สามารถเก็บมาวิเคราะห์ได้นั้น จะมี ลักษณะดังนี้
1. มีการเจริญของจุลินทรีย์น้อยลง สังเกตจากฝ้าขาวบริเวณผิวหน้าของวัสดุหมักจะน้อยลง
2. กลิ่นแอลกอฮอล์จะลดลง
3. มีกลิ่นเปรี้ยวเพิ่มขึ้น
4. ไม่ปรากฏฟองก๊าซ CO2
5. ได้ของเหลวใสสีน้ำตาล
การเก็บตัวอย่างปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
คนปุ๋ยให้เข้ากัน แล้วเก็บใส่ในภาชนะที่ทำด้วยแก้ว กระเบื้องเคลือบ หรือโพลีเอทิลีนที่สะอาด และแห้ง ประมาณ 1-2 ลิตร ปิดฝาจุกให้แน่นเพื่อส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการต่อไป