จังหวัดอุตรดิตถ์มีเนื้อที่ ทั้งหมด 4,899,120 ไร่ จากการสำรวจดินของกองสำรวจและจำแนกดิน กรมพัฒนาที่ดินสามารถจำแนกลักษณะดินที่พบในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ตามลักษณะธรณีสัณฐาน และวัตถุต้นกำเนิดดิน  ดังนี้

                                1.  บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง  (flood  plain)  มีเนื้อที่ประมาณ  36,591  ไร่  หรือร้อยละ  0.75  เป็นที่ราบบริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา  ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมทุกปีในฤดูฝน  สภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ  ความราดชัน  0-2 %  ลักษณะดินเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำทุก ๆ ปี  เป็นดินลึก  เนื้อดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย  ดินร่วนถึงดินเหนียวและมีการทับถมของตะกอนลำน้ำในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน  ดินมีการระบายน้ำดีถึงเลว  มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง  ใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำนา  ปลูกพืชไร่  และพืชผัก  ได้แก่  กลุ่มชุดดินที่  21,38  และ  59

                                2.  บริเวณสันดินริมน้ำเก่า  (old  levee)  มีเนื้อที่ประมาณ  173,816  ไร่  หรือร้อยละ  3.55  เป็นบริเวณที่ถัดจากที่ราบน้ำท่วมถึง  เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำเกิดเป็นสันดินริมฝั่งแม่น้ำ  สภาพพื้นที่ราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย  ความลาดชัน  0 - 5  %  เนื้อดินเป็นพวกดินร่วน  ดินร่วนปนทรายแป้งถึงดินเหนียว  เป็นดินลึกมาก  การระบายน้ำดีถึงดีปานกลาง  ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง  มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกพืชไร่  พืชผัก  และไม้ผล  ได้แก่  กลุ่มชุดดินที่  33  และ  60 

                                3.  บริเวณตะพักลำน้ำค่อนข้างใหม่  (semi-recent  terrace)  มีเนื้อที่ประมาณ   501,711  ไร่  หรือร้อยละ  10.24  เป็นบริเวณที่ถัดจากที่ราบน้ำท่วมถึงและสันดินริมน้ำเก่า   เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำที่มีอายุค่อนข้างใหม่   สภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ  ความลาดชัน  0-2 %  ลักษณะดินเป็นดินลึกมาก  เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายแป้ง  ดินร่วนเหนียวปนทรายแป้งถึงดินเหนียว  มีการระบายน้ำเลว  ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำถึงปานกลาง  มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำนา  บางแห่งที่มีแหล่งน้ำสามารถปลูกพืชไร่  และพืชผักในฤดูแล้ง  ได้แก่  กลุ่มชุดดินที่  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7  และ  15

                                4.  บริเวณตะพักลำน้ำเก่า   (old  alluvium  terrace)   มีเนื้อที่ประมาณ   682,346  ไร่  หรือร้อยละ  13.92  แบ่งเป็น  2  ลักษณะ  คือ

                                                4.1  บริเวณตะพักลำน้ำระดับต่ำ  (low  terrace)  มีเนื้อที่  194,228  ไร่  หรือร้อยละ  3.96  เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำเก่าบนตะพักลำน้ำระดับต่ำ  สภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบเรียบ   ความลาดชัน   0-2 %   ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินลึกมาก    มีบางแห่งที่เป็นดินตื้นปนกรวด  หรือลูกรัง  เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย  ดินร่วน  ถึงดินร่วนเหนียวปนทราย   มีการระบายน้ำค่อยข้างเลวความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ   มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำนา   ได้แก่กลุ่มชุดดินที่  16, 17, 18, 22, 24  และ  25

                                                4.2  บริเวณตะพักลำน้ำเก่าระดับกลางถึงสูง  (middle  to  high  terrace)   มีเนื้อที่  488,118  ไร่  หรือร้อยละ  9.96  เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำเก่าบนตะพักลำน้ำระดับกลางถึงสูง  สภาพพื้นที่เป็นแบบค่อนข้างราบเรียบถึงลูกคลื่นลอนชัน   ความลาดชัน   2-20 %  ลักษณะดินเป็นดินตื้นถึงลึกมาก   เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย   ดินร่วน  ถึงดินเหนียวปนทราย  มีการระบายน้ำดี  ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ   มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกพืชไร่   และไม้ผลต่าง ๆ   บางแห่งยังคงสภาพเป็นป่าเต็งรัง  ได้แก่  กลุ่มชุดดินที่  35, 40, 41, 44, 48  และ  49

                                5.  บริเวณพื้นผิวที่เหลือค้างจากการกร่อน  และที่ลาดเชิงเขา  (erosion  surface  and  footslope)   มีเนื้อที่   589,742   ไร่  หรือร้อยละ   12.04   เป็นบริเวณที่เกิดจากการผุพังสลายตัวอยู่กับที่หรือ  เคลื่อนที่ไปเล็กน้อยตามแรงโน้มถ่วงของโลกของวัตถุต้นกำเนิดดินได้แก่  หินดินดาน  หินทราย  หินควอทไซท์    หินฟิลไลท์  และหินแอนดีไซท์  เป็นต้น  สภาพพื้นที่เป็นแบบลูกคลื่นลอนลาดถึงเนินเขา  ความลาดชัน  5-35 %  ลักษณะดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินขึ้นกับวัตถุต้นกำเนิดดิน  เป็นดินตื้นถึงลึกมาก  เนื้อดินเป็นดินร่วน  ร่วนปนดินเหนียว  ร่วนปนทราย   ถึงดินเหนียว   มีการระบายน้ำดี   ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำถึงปานกลาง   มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกพืชไร่     และไม้ผลชนิดต่าง ๆ    ได้แก่กลุ่มชุดดินที่  26, 28, 29, 31, 36, 46, 47, 55  และ  56

                                6.  บริเวณเนินเขาและภูเขาสูงชัน  (hills  and  mountains)   มีเนื้อที่   2,726,027  ไร่   หรือร้อยละ  55.64  เป็นบริเวณที่มีสภาพพื้นที่สูงชัน  ความลาดชันมากกว่า  35 %  ประกอบด้วยดินหลายชนิดเกิดขึ้นปะปนกันยังไม่มีการสำรวจและจำแนกดิน  ลักษณะและคุณสมบัติต่าง ๆ   ของดิน   ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของดินไม่แน่นอนขึ้นกับหินที่เป็นวัตถุต้นกำเนิดดินบริเวณนั้น ๆ  เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการทำการเกษตรใด ๆ  เนื่องจากมีความลาดชันมากเกินไป  เสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายของดินอย่างรุนแรงควรสงวนไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติ

                                7.  พื้นที่ดินหินโผล่  (rock land)  มีพื้นที่  22,946  ไร่  หรือร้อยละ  0.47

                                8.  พื้นที่แหล่งน้ำ  (water  land)  มีเนื้อที่  165,941  ไร่  หรือร้อยละ  3.39

       

 

ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับการปลูกพืช
จากข้อมูลทรัพยากรดิน  ในจังหวัดอุตรดิตถ์  สามารถสรุปความเหมาะสมของที่ดินสำหรับการปลูกพืช  ชนิดต่าง ๆ  ดังน

                                1.  ดินที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการทำนา  มีเนื้อที่ประมาณ  699,950  ไร่  หรือร้อยละ  14.29  พบบริเวณที่ราบและที่ราบน้ำท่วมถึง  ส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาและทับถมของตะกอนที่มากับน้ำ  ทำให้เกิดเป็นที่ราบเป็นบริเวณกว้างตามอำเภอต่าง ๆ  และตามหุบเขา  ลักษณะดินเป็นดินเหนียว มีการระบายน้ำเลว  ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำถึงปานกลาง  ส่วนมากพบทางด้านตะวันออก  และตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด  ได้แก่  อำเภอตรอน  อำเภอพิชัย  และตอนใต้ของอำเภอลับแล  นอกนั้นพบกระจัดกระจายอยู่ทุกอำเภอ 

                                2.  ดินที่มีศักยภาพเหมาะสมสำหรับพืชไร  มีเนื้อที่  526,038  ไร่  หรือร้อยละ  10.74  ส่วนมากพบตามที่ราบและสันดินริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา  และบริเวณที่ลาดเชิงเขา  สภาพพื้นที่ทั่วไปมีความลาดชันเล็กน้อยถึงลูกคลื่นลอนชัน  หรือเชิงเขาความลาดชัน  2 20 %  ประกอบด้วยดินหลายกลุ่มแตกต่างกันไปตามลักษณะและอิทธิพลของวัตถุต้นกำเนิด  เนื้อดินปานกลางถึงละเอียด  มีการระบายน้ำดี  พื้นที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ  ที่พบมากคือ  อำเภอตรอน  อำเภอพิชัย  และอำเภอเมือง

                                3.  ดินที่มีศักยภาพเหมาะสมสำหรับไม้ผล  มีเนื้อที่  554,858  ไร่  หรือร้อยละ  11.33  ส่วนมากพบตามที่ราบและสันดินริมแม่น้ำน่านและแม่น้ำสาขา  บริเวณที่ลาดเชิงเขาและเนินเขา  ความลาดชัน  2 - 35  %   ลักษณะดินเป็นดินลึก   มีการระบายน้ำดี   เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย   ดินร่วนถึงดินเหนียว  ความอุดมสมบูรณ์ต่ำถึงปานกลาง  พบกระจัดกระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ  พบมากที่  อำเภอตรอน  อำเภอพิชัย  อำเภอลับแล  และอำเภอท่าปลา